จุดหมายถัดไปต่อจากพุกาม ก็คือทะเลสาบอินเล ซึ่งเราแพลนไว้พิเศษ ว่าจะอยู่นานกว่าเมืองอื่น เพราะเดินทางยากอยู่ ต้องเที่ยวให้คุ้ม แต่คุ้มที่สุดก็ได้แค่ 2 วัน 1 คืนเท่านั้นแหละ แหะ แหะ โดยเราใช้บริการสายการบิน KBZ บินออกจากพุกามตอนเช้า ค้างที่อินเลคืนนึง แล้วอีกวันก็ยังเที่ยวต่อ ก่อนจับเครื่อง KBZ ไฟลท์เย็นไปจบทริปที่ย่างกุ้ง
นั่งเรือหางยาวส่วนตั๊ว ส่วนตัว very VIP สู่ทะเลสาบอินเล
การเดินทางไปอินเลโดยเครื่องบิน จะมาลงที่สนามบินเฮโอ (Heho) ซึ่งเป็นสนามบินบนเขา แต่ก็ใกล้ทะเลสาบอินเลที่สุดแล้ว จากสนามบินต้องต่อรถอีกประมาณ 1 ชั่วโมง ลดเลี้ยวคดเคี้ยวลงเขามาเรื่อยๆ จนถึงประตูสู่อินเลที่เมืองยองชเว (NyaungShwe) ถามไกด์ว่าทำไมต้องถ่อมาสร้างสนามบินซะไกลเมืองขนาดนี้ แถมบนเขาอีกต่างหาก ไกด์บอกว่า โหววว สร้างมานานแล้ว ดินข้างล่างไม่เหมาะกับการก่อสร้างสนามบิน เลยต้องเลือกทำเล ณ ความสูงระดับนี้
ถึงท่าเรือที่เมืองยองชเวแล้วก็เปลี่ยนมาต่อเรือ มีเรือที่หน้าตาเหมือนเรือหางยาวบ้านเราเรียงรายอยู่เต็มท่า แต่ละลำดูก็รู้ว่าเป็นเรือนักท่องเที่ยวของแท้ เพราะบนเรือจะมีเก้าอี้ VIP วางไว้ 3-5 ตัว (ถ้าเป็นเรือชาวบ้านไม่มีเก้าอี้ VIP แบบนี้แน่) ไม่ต้องเสียเวลาสำรวจเมืองยองชเวเลยค่ะ งานนี้จุดหมายปลายทางคืออินเล ชัดเจนมาก ลุยเลย ขึ้นเรือได้เลย ยังต้องเดินทางต่ออีกเป็นชั่วโมงแน่ะ
ลำนู้นมีนกตามมาด้วยเพียบเลย
อากาศเย็นสบาย นั่งบนเก้าอี้ VIP เพลินดี๊ดี แต่เรือไม่มีหลังคาเลยล่ะ แดดเข้าหน้าแบบนี้ ก็ต้องอาศัยกางร่มไปด้วยตลอดทาง ในเรือมีเตรียมไว้ให้เรียบร้อย เข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์จำเป็นมาก โดยเฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยผู้กลัวแดด ถ้าฝรั่งอาจจะกลัวน้อยกว่านี้ (มั้ง)
น้ำในทะเลสาบใสแจ๋ว มองเห็นสาหร่ายใต้น้ำชัดมาก ซักพักเริ่มเห็นไฮไลท์อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวอย่างแรกของอินเล นั่นก็คือชาวประมง ซึ่งไกด์บอกว่ามี 2 ประเภท คือชาวประมงที่ออกมาหาปลาจริงๆ กับชาวประมงที่ทำท่าโชว์ หรือที่ไกด์เรียกว่า entertainment fisherman ไว้รับจ้างทำท่าพายเรือและจับปลาโชว์นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ ซึ่งพวกเราส่ายหัวบอกไม่เอาค่ะ ขอของจริง และแป๊บๆ เด๋วก็เจอ ไกด์บอกเพิ่มเติมว่าชาวประมงของจริง เค้าไม่ค่อยชอบให้นักท่องเที่ยวไปวุ่นวายอะไรกับเค้ามากนัก โดยเฉพาะถ้าเครื่องยนต์ของเรือนักท่องเที่ยวจะไปทำให้ปลาหนีหมด ก็จะยิ่งโกรธเลยละ ดังนั้น เวลาเข้าไปใกล้ๆ เรือชาวประมงตัวจริงเสียงจริง เรือของเราก็ต้องเบาเครื่อง และพวกเราก็ต้องสงบเสียงกรี๊ดกร๊าดด้วย ซึ่งก็ดีกับเรานะ เพราะสามารถถ่ายรูปได้ง่ายขึ้น ได้ช็อตเด็ดติดกลับมามากมาย
ทอดแหไป พายเรือไป ยืนพายเรือด้วยขาข้างเดียวซะด้วย
ชาวประมงที่นี่พายเรือด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะตัว คือใช้ขาข้างเดียวยืนพายเรือ เนื่องจากมือไม่ว่างงัยคะ ต้องใช้สาวแห จับสุ่ม ตกปลา แถมนั่งพายดีๆ ก็ไม่ได้ เพราะสวนผักลอยน้ำก็สูงอยู่ ถ้านั่งก็โดนบัง มองไม่เห็นทาง เด๋วชนกันพอดี เทคนิคเช่นนี้ถ้าเป็นลูกทะเลสาบจริง เค้าฝึกกันแต่เล็กแต่น้อยเลยล่ะค่ะ เป็นกันทุกคน แม้แต่กัปตันเรือลำของเรา ถึงตอนนี้ใช้มอเตอร์ก็จริงนะ พอหันไปถามว่าพายแบบนี้ได้มั้ย เค้าพยักหน้าหงึกๆ ยิ้มรับอย่างภาคภูมิเลย
มีนกตามมาเพียบ ระยะประชิดแบบนี้เลย
นอกจากนี้ที่เพลินดีอีกอย่างก็คือนกค่ะ ลำไหนมีโปรยอาหาร จะเห็นนกตามมาเป็นขบวนเลย ไม่ต้องหาปลากินเองละ 555 ถ้าอยากให้อาหารนก ก็บอกกัปตันเรือให้เค้าเตรียมไว้ให้นะคะ สนุกดี แต่ทว่า ถ้านกอิ่มแล้วจะปล่อยอึเลยป่าว อันนี้ไม่รู้นะ ตัวใครตัวมันค่ะ
วิวมื้อเที่ยงของวันนี้ค่ะ แจ่มมั้ยล่ะคะ
เดินทางมาได้ครึ่งทะเลสาบละ ได้เวลาหิวพอดี ไกด์พามาแวะมื้อกลางวัน ที่ร้านอาหารใกล้หมู่บ้านชาวประมง ได้วิวแบบนี้เลย เจ๋งมั้ยล่ะคะ และมาถึงอินเลทั้งที ก็ต้องลิ้มลองปลาทะเลสาบสินะ อร่อยชนะเลิศเลยค่ะ … อิ่มเรียบร้อยก็เที่ยวต่อเลย ออกเรือไปแป๊บๆ ก็มาถึงหมู่บ้านชาวประมงละ เค้าเก่งมากเลยนะ สามารถสร้างบ้านกลางน้ำแบบนี้ได้ บ้าน 2 ชั้น 3 ชั้นก็มีด้วยนะ ทุกบ้านมีเรือเป็นของตนเอง สมเป็นหมู่บ้านชาวประมงจริงๆ
นั่งเรือวนเที่ยวหมู่บ้านชาวประมง
มีไปรษณีย์ด้วย
หลายชั้นอยู่ สร้างได้เก่งมาก และ colorful สุดๆ
วิถีชีวิตบนทะเลสาบ
จากนั้นมาต่อที่หมู่บ้านทอผ้า ซึ่งที่นี่จะทอผ้าชนิดพิเศษ คือผ้าทอใยบัว (lotus silk weaving) … เฮ้ยย ใยบัวเอามาทอผ้าได้ด้วยรึ … ได้สิคะ เค้าเอาก้านสายบัวมากรีดและหักออก จากนั้นก็ดึงเอาใยบัวออกมาปั่นเป็นด้าย แล้วก็ทอ ได้ออกมาเป็นผ้าทอใยบัวเนื้อนุ่ม นิยมผลิตออกมาเป็นสีน้ำตาลธรรมชาติ ไม่ค่อยย้อม ใส่แล้วโปร่งโล่งสบาย ถือเป็นของดีราคาไม่เบา และชาวบ้านมักนำไปถวายพระ หมู่บ้านทอผ้านี้ นอกจากผ้าทอใยบัวแล้ว ก็ยังมีรับไหมมาจากที่อื่น แล้วทำการทอด้วยวิธีการออกแบบลายเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับที่ใช้กระสวยอันเล็กๆ เรียงรายเยอะๆ แบบที่มัณฑะเลย์ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น แบบที่เรียกว่าถิ่นใครถิ่นมันสินะ … แต่น้ำย้อมสีนี่สิคะ คาดว่าคงไม่ได้มีการบำบัดอะไรหรอก ทะเลสาบก็ตรงหน้า วิถีชาวบ้านทำกันเอง แหงๆ เลยค่ะ ทะเลสาบรับไป
สาธิตการนำเส้นใยบัวออกมาใช้
เหนียวหนืดแบบนี้เลยค่ะ
แล้วก็ปั่นๆๆๆ เป็นด้าย ก่อนนำไปทอ
ถัดมาอีกไม่ไกล ก็มาชมหมู่บ้านตีเหล็ก ทำมีด (blacksmith workshop) ซึ่งก็ผลิตดาบและของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว และมีดทำครัวไปส่งขายที่ตลาดตามหมู่บ้านต่างๆ พวกเราแวะกันแป๊บๆ พอให้ได้รู้จักแต่พอหอมปากหอมคอค่ะ
กำลังตีเหล็กบนเตาร้อนๆ
ฝั่งนี้คือดาบที่ตีได้ เป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวได้ซื้อหา
นั่งเรือมาเที่ยววัด
พระบัวเข็มทั้ง 5 องค์
นอกจากนี้ถ้ามาในช่วงออกพรรษา หรือประมาณปลาย ก.ย. ต่อต้น ต.ค. จะได้ชมงานเทศกาลแห่เรือด้วย ซึ่งเค้าจะอัญเชิญพระบัวเข็ม 4 องค์ลงขบวนเรือการะเวกสีทอง แล้วแห่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ รอบทะเลสาบเป็นเวลา 20 วัน … อ้าว แล้วทำไมอัญเชิญแค่ 4 องค์เท่านั้นล่ะ … เรื่องนี้เค้ามีตำนานเล่าขานกันว่า สมัยก่อนก็แห่กัน 5 องค์นี่ละ แต่มีครั้งหนึ่งเกิดเรือล่ม พระจมน้ำหมด สามารถกู้คืนมาได้แค่ 4 องค์เท่านั้น อีก 1 องค์งมหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ ชาวบ้านเสียใจที่สุด แต่สุดท้ายแล้วอีก 1 องค์ที่จมหายไป ก็สร้างปาฏิหาริย์โดยกลับมาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้เอง ทำให้เดากันไปว่าท่านคงไม่อยากออกไปร่วมงานแห่ด้วย ดังนั้นในงานเทศกาลแห่เรือครั้งต่อๆ ไป จึงอัญเชิญเพียง 4 องค์เท่านั้น และยังมีการสร้างเสาหงส์ไว้ตรงจุดที่เรือล่มอีกด้วย
เรือการะเวกสีทอง เก็บไว้ที่โกดังข้างวัด
ปักหมดตำแหน่งที่ขบวนเรือแห่เคยล่มในอดีต
โหวว เยอะไปแล้วมั้ยคะ ก็อินเลน่ะมีอะไรๆ น่าสนใจตั้งมากมาย บล็อกเดียวคงไม่จบ ไว้ต่ออีกบล็อกละกันค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น