ตั้งแต่กิจกรรม dolphin watching เหนือหาดโลวีน่า ที่เกาะบาหลี กับทริปไปเช้าเย็นกลับ ล่องเรือจากปากน้ำย่านบางขุนเทียน เพื่อชมวาฬบรูด้า (Bryde’s whale) ณ อ่าวไทย บล็อกนี้ยังสนุกกับการดูปลาอยู่ค่ะ แถมดูทั้งวาฬและโลมาพร้อมกันเลย (ก็ยังเรียกว่าปลา แม้ว่าทั้งวาฬและโลมาจะไม่ใช่ปลา 555) มิสกะโปโลขอแปะมือส่งมอบหน้าที่นี้ชั่วคราว ให้ทิปิจังพาไปยังคาบสมุทคิอิ (Kii penninsula) เมืองไทจิ (Taiji) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดวาคายามะ ใต้สุดของเกาะใหญ่ฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วาฬไทจิ หรือ Taiji Whale Museum กันค่ะ
อาคารพิพิธภัณฑ์ Taiji Whale Museum (Kujirakan)
แถวนี้มีกระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะ (Kuroshio) ไหลผ่าน มีปลาอุดมสมบูรณ์มากมาย โดยเฉพาะทูน่ามีตลอดทั้งปีเลย และยังมีวาฬและโลมาจำนวนมากว่ายมาเที่ยวเล่นบ่อยๆ ตามฤดูกาลและกระแสน้ำ ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นอ่าวโค้งเว้า ไทจิจึงมีวัฒนธรรมล่าวาฬ เป็นอาชีพหลักของชุมชนมาตั้งแต่อดีตยาวนานมากแล้วค่ะ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์วาฬไทจิจึงเป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์ และอะควาเรียมที่แค่จัดแสดงปลา เพราะเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นในการล่าวาฬอีกด้วย
สวนหย่อมริมทะเล เมืองไทจิ และสัญลักษณ์แห่งเมืองนักล่าวาฬ
ฝาท่อระบายน้ำเป็นรูปวาฬและโลมาพันธุ์ต่างๆ
บนพื้นกระเบื้องบนฟุตบาธก็ด้วย
มีวาฬทั่วเมือง
แล้วจะล่าวาฬไปทำไมล่ะ พอเป็นสัตว์ใหญ่และแถมน่ารัก ดราม่าก็บังเกิด … แต่ทุกอย่างก็มีที่มาที่ไปค่ะ ก่อนจะดราม่า เรามาทำความรู้จักกับเพื่อนวาฬและโลมากันก่อนนะคะ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดก็ได้จากการมาเยี่ยมชม Taiji Whale Museum นี้เองแหละ ซื้อตั๋วเข้าชมเรียบร้อย ก็เข้าไปหาความรู้ยังอาคารนิทรรศการก่อนเลย และเก็บไฮไลท์วาฬและโลมากระโดดโชว์ รวมถึงทัศนียภาพกลางแจ้งติดทะเลด้านนอกสวยๆ ไว้ทีหลัง
ว่ากันว่าทั่วโลกมีวาฬมากกว่า 80 ชนิด สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่มีฟันเป็นซี่ๆ กับกลุ่มที่กลายสภาพฟันซี่แข็งๆ เป็นขนแปรง เรียกว่าวาฬมีฟัน กับวาฬหนวดละกัน (ตั้งเองเลย) และโลมาก็ถือเป็นพวกวาฬชนิดหนึ่ง โดยเป็นกลุ่มวาฬมีฟัน ที่มีขนาดตัวเล็กที่สุดในโลกนั่นเอง
วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระดูกสันหลังเหมือนมนุษย์
ครีบปลา ต่างกับครีมวาฬนะจ๊ะ
และที่สำคัญ (เขียนไปหลายรอบแล้ว) วาฬเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ใช่ปลานะจ๊ะ (แต่ก็เรียกปลาอยู่เรื่อยๆ) หายใจต้องใช้ปอด ไม่ได้ใช้เหงือกเหมือนปลา โดยจมูกก็อยู่ด้านบนนั่นเอง จะได้หายใจไปว่ายน้ำไปสะดวกดี และปอดเค้าก็จุมากเลย ขึ้นมาหายใจทีสามารถว่ายในน้ำต่อได้ถึง 15-45 นาที (ขึ้นกับสายพันธุ์) อีกทั้งยังมีกระดูกสันหลัง (ตามแบบฉบับของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และแตกย่อยเป็นระยางกระดูกแขนขา (ที่เห็นเป็นครีบ) ไม่เหมือนก้างปลาแน่ๆ และลูกวาฬตอนเด็ก ก็ต้องกินนมจากอกแม่ค่ะ
นอกจากนี้ โดยปกติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จะมีขนช่วยกักเก็บความอบอุ่นและควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย แต่เนื่องจากวาฬกับโลมานี้เป็นเวอร์ชั่นพิเศษ อาศัยอยู่ในน้ำ มีขนไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่ได้ช่วยให้อุ่นขึ้น ว่ายน้ำเกะกะเปล่าๆ ดังนั้นขนที่ติดตัวมาตอนเป็นเด็ก พอโตขึ้นก็จะค่อยๆ จางหายไป (ไม่ต้องใช้ครีมกำจัดขน และผิวหนังก็ไม่มีเกล็ดนะ เพราะไม่ใช่ปลา) แต่ก็ยังควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ โดยอาศัยชั้นไขมันหนาๆ ใต้ผิวหนังเป็นตัวช่วยแทนนั่นเอง
ยังค่ะ ยังไม่จบ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกันก็ต้องพูดได้ ฟังได้สินะ … ใช่แล้วค่ะ วาฬและโลมาเค้าใช้คลื่นเสียง (sonar) ในการสื่อสารกัน แต่เสียงที่ส่งออกมาไม่ได้ออกมาจากการสั่นของสายเสียงในช่องปากหรอกนะ เค้าใช้วิธีสั่นผิวหนังบริเวณช่องอากาศแถวจมูกต่างหาก (เลยบางทีทั้งหายใจ พ่นน้ำ และส่งเสียงพร้อมๆ กัน) ส่วนการรับเสียงก็ไม่ได้ใช้หู แต่เป็นการรับคลื่นเสียงผ่านทางผิวหนัง สั่นต่อผ่านกระดูก ไปถึงโสตประสาท … เป็นหลายเทคนิคที่ธรรมชาติจัดให้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสปีชี่พิเศษ ที่เลือกจะลงน้ำไปอาศัยอยู่ในท้องทะเลนั่นเอง
หุ่นจำลองวาฬตัวใหญ่ยักษ์
ชั้นบนสุดของอาคารนิทรรศการ เป็นการจัดแสดงเกี่ยวกับวิวัฒนาการล่าวาฬตั้งแต่อดีต จนทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็แสดงถึงความเฉลียวฉลาดของมนุษย์ในการจัดการกับสัตว์ใหญ่เช่นนี้ และการล่าวาฬก็ไม่ได้มีแค่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ทางแถบประเทศอังกฤษ และสแกนดิเนเวีย ก็มีมานานแล้วเช่นกัน (ตั้งแต่สมัยไวกิ้ง) แถมการออกล่าแต่ละครั้งก็ใช่จะประสบความสำเร็จ เพราะเล่นกับท้องทะเลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ คู่ต่อสู้ก็ตัวใหญ่มหึมา แถมคลื่นลมอีก ดูการจัดแสดงบนชั้นบนสุดนี้แล้ว แอบนึกถึงการ์ตูนโจรสลัดเรื่องโปรด One Piece ที่ติดตามมานานต่อเนื่องหลายปีแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววจะจบซักที 555
ได้เวลาโชว์โลมา (dolphin show) แล้ว ที่นี่เค้าจัดแสดงเป็นรอบๆ ค่ะ สลับกับตารางเวลาโชว์ของวาฬ (whale show) บ่อโชว์โลมาเป็นบ่อกลางแจ้ง อยู่ติดกับอาคารนิทรรศการ โลมาที่นี่น่ารักมากมาย เคยดูมาหลายที่แล้ว แต่โชว์ของที่นี่เยี่ยมยอดที่สุด แสดงได้เป๊ะๆๆ ทุกสเต็ป (คนญี่ปุ่นว่าเป๊ะแล้ว ยังฝึกสัตว์ได้เป๊ะมากๆ อีกด้วย) ได้ขนาดนี้คงต้องฝึกกันตั้งแต่โลมายังเด็กๆ เลยสินะ บางท่าเช่นตอนยืดหลังตะเบ๊ะนี่ทำได้งัย เก่งจริงๆ
โหวว โดดได้สูงมาก
ตะเบ๊ะ พร้อมกันทั้ง 4 ตัว
โชว์โลมาจบลงด้วยความประทับใจ เป็นปลื้มในความน่ารักของพวกมันจนน้ำหูน้ำตาไหล ยังมีเวลาเหลืออีกพอสมควร ก่อนจะถึงเวลาโชว์ของวาฬ เลยแวะไปเยี่ยมชมอะควาเรียม ซึ่งก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมายนัก กับไปให้อาหารวาฬและโลมาที่บ่อกลางแจ้ง ซึ่งอยู่ติดทะเลวิวสวยเหลือเกิน (เราต้องล้างมือฆ่าเชื้อโรคก่อนให้อาหารพวกมันนะคะ) เจ้าโลมาดูจะฉลาดและกระฉับกระเฉงกว่าวาฬเยอะเลย โยนอาหารไปให้กี่ทีๆ ก็เข้าปากงับทันตลอด แต่วาฬนี่สิ ต้องโยนให้ตรงๆ ปากหน่อย ช่วยๆ กัน จะได้อิ่มแบบไม่ต้องให้มันต้องเหนื่อยเกินไปค่ะ
จากนั้นก็ถึงคิวโชว์ของวาฬละ ตรงบ่อกลางแจ้งนี้เองล่ะค่ะ ไปอะควาเรียมอื่นเคยเห็นแต่โชว์โลมา มาที่ Taiji Whale Museum นี้มีวาฬกระโดดโชว์ให้ดูด้วย แต่ก็พอจะเดาได้ตั้งแต่ตอนให้อาหารเลี้ยงพวกมันแล้วล่ะ วาฬพวกนี้เค้าไม่กระฉับกระเฉงเท่าโลมานัก จะให้มากระโดดตีลังกา 2-3 ตลบอะไรนี่ไม่มีแน่ แค่แบกน้ำหนักกระโดดขึ้นมาได้สูงขนาดนี้ก็เก่งมากแล้ว นับถือทั้งวาฬและครูฝึกจริงๆ ค่ะ
จบแล้วกับการแสดงทุกสิ่งอย่าง เป็นพิพิธภัณฑ์ที่นอกจากสนุกแล้วยังได้ความรู้มาเพียบเลยค่ะ แต่ก็มีที่ไม่สบอารมณ์อยู่นิดนึง ตรงที่ออกมาแล้วเจอแต่ร้านซาชิมิเนื้อวาฬน่ะสิ เพิ่งชมการแสดงน่ารักๆ ของพวกมันมาหมาดๆ แล้วมาเจอแบบนี้ก็ยังงัยอยู่อ่ะนะ … ก็เข้าใจอยู่ว่าวัฒนธรรมการกินปลาดิบหรือซาชิมินี้เป็นเรื่องปกติของคนญี่ปุ่น และชาวบ้านท้องถิ่นแถวนี้เค้าก็ใช้ชีวิตอยู่กับวิถีล่าวาฬมายาวนานตั้งแต่อดีตละ … คนรุ่นใหม่อาจคิดบ้างรึเปล่าไม่แน่ใจ แต่องค์ประกอบมันดูขัดกันอยู่สำหรับคนชาติอื่น โดยเฉพาะกลุ่มอนุรักษ์นิยม
ยิ่งเมื่อต่างชาติมาทำรายการสารคดี ตอนที่โลมาหัวขวดพันธุ์หายาก ชื่อว่าเจ้า แองเจิ้ล (Angle) ตัวน้อยถูกจับได้ในช่วงฤดูล่าวาฬที่ไทจินี้พอดี (ฤดูล่าวาฬเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือน ก.ย. ถึงเดือน มี.ค.) พอเผยแพร่ออกไปเท่านั้นแหละ ดังเลยค่ะ ดราม่าบังเกิดเลย เจ้าแองเจิ้ลตัวน้อยน่าสงสารจริงอยู่ เพราะโดนพรากจากอกแม่แต่เล็กแต่น้อย (ไปเผลอโดนต้อนถูกจับมาได้งัยเนี่ย) แต่บังเอิญว่าเป็นพันธุ์หายากงัยคะ ทางพิพิธภัณฑ์เค้าก็อยากเลี้ยงไว้ศึกษาพฤติกรรมต่อ เลยโดนต่อต้านค่อนข้างเยอะ และเลยเถิดไปถึงเรื่องล่าวาฬด้วย
อ้าว อยู่ๆ ไปให้เค้าเลิกล่าวาฬแล้วจะทำมาหากินอะไรล่ะคะ คงต้องให้ระดับรัฐบาลมาช่วยคิดแล้วกระมัง จริงๆ ทางพิพิธภัณฑ์เค้าก็มีประเด็นแย้งล่ะ ว่าที่สร้างพิพิธภัณฑ์นี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดการจับมันมาแล่เนื้องัยล่ะ ซึ่งเมื่อรับซื้อวาฬและโลมาจากชาวประมงมาแล้ว เอามาฝึกให้เก่งๆ ก็สามารถส่งออกไปยังอะควาเรียมตามที่ต่างๆ ได้ ทำให้อย่างน้อยไม่ต้องฆ่าแกงกัน ยิ่งทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น แค่วาฬมิงค์พันธุ์เดียวก็พบว่ามีอยู่ถึง 2 หมื่น 5 พันตัว ซึ่งเยอะเกินไปแล้ว (วาฬตัวใหญ่ มีเยอะก็กินปลาอื่นเยอะด้วย) มีชาวประมงออกล่าก็ถือเป็นการช่วยควบคุมจำนวน
แผนที่เมืองไทจิ และสัญลักษณ์วาฬ
แต่หลังๆ พอขายได้ราคาดี ก็อาจจะจับกันเป็นล่ำเป็นสันเยอะไปรึเปล่า อีกทั้งวิธีการ ก็ควรออกกฏหมายบังคับให้ลดดีกรีความโหดลง อย่าให้พวกมันต้องหมดลมหายใจอย่างทรมาน ก่อนจะกลายมาเป็นอาหารขึ้นโต๊ะให้มนุษย์เลย … จะว่าไป ล้มสัตว์ใหญ่ทั้งหลาย จะหมู จะวัว จะอะไร ก็น่าสงสารเหมือนกันหมดแหละ เสร็จมนุษย์ตลอด อ่านบล็อกนี้จบคงต้องกินมังสวิรัติแล้วล่ะ 555
นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาออกมายืนยันอีกด้วยว่า ในเนื้อวาฬและโลมา มีสารปรอทค่อนข้างสูง ไม่ควรบริโภค … ซึ่งมาคิดอีกแง่หนึ่ง เฮ้อ ก็มนุษย์อีกนั่นแหละ ที่ไปหยิบยื่นปรอทใส่บ้านของมัน พอประชากรมนุษย์ล้นโลกเข้า ก็ลำบากเพื่อนร่วมโลกสายพันธุ์อื่นเช่นนี้ … ใช้ทรัพยากรเปลืองจังนะ แต่ละคน
สุดท้ายเรื่องราวของพิพิธภัณฑ์วาฬไทจิ ก็ลงเอยด้วยการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรสวนสัตว์และอะควาเรียมแห่งญี่ปุ่น (Japanese Association of Zoos and Aquariums หรือ JAZA) เพราะ JAZA เองก็ต้องถือปฏิบัติตามกฏของสมาชิกองค์กรสวนสัตว์และอะความเรียมโลก (WAZA) ด้วยเช่นกัน … อนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปไม่อาจรู้ได้ แต่โดยส่วนตัวทิปิจังยังชื่นชมกับวิธีการจัดแสดงให้ความรู้ และความสามารถในการฝึกวาฬและโลมาของที่นี่นะคะ (เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นแท้ๆ ยังทำได้ขนาดนี้) ส่วนเรื่องเบื้องลึกเบื้องหลังอื่นๆ คงต้องฟังหูไว้หู … เพราะทุกฝ่ายต่างก็มีเหตุผลเป็นของตัวเอง
ดูปลาจบทั้ง 3 ตอนละ บอกเลย รักอ่าวไทยมากสุดค่าาา
ดูปลาจบทั้ง 3 ตอนละ บอกเลย รักอ่าวไทยมากสุดค่าาา
มาดูปลา ตอน 1 (Lovina Beach, Dolphin Watching)
มาดูปลา ตอน 2 (วาฬบรูด้า Bryde's Whale ณ อ่าวไทย)
มาดูปลา ตอน 3 (Taiji Whale Museum วาคายามะ)
มาดูปลา ตอน 2 (วาฬบรูด้า Bryde's Whale ณ อ่าวไทย)
มาดูปลา ตอน 3 (Taiji Whale Museum วาคายามะ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น