มาต่อกันที่จังหวัดทางใต้สุดของเกาะคิวชู คือคาโกชิมะ (Kagoshima) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเนเปิ้ลในอิตาลี เนื่องจากมีลักษณะอากาศและที่ตั้งเป็นอ่าวคล้ายคลึงกัน และสำหรับจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่โตมากมายเช่นนี้ ทิปิจังไปเดินฉุยฉายปักหมุดได้กลับมาแค่ 2 พ้อยต์เท่านั้นแหละค่ะ เริ่มจากที่แรก คือเกาะซากุระจิมะ เห็นชื่อปุ๊บ ก็อาจจะสงสัยกันสินะ ว่าเป็นเกาะแห่งซากุระรึป่าว อิอิ … ที่มาของชื่อเกาะมีเรื่องเล่าขานมากมายหลายแบบเลยค่ะ บางคนบอกว่ามาจากชื่อ เกาะแห่งเทพซากุยะ แล้วค่อยๆ เพี้ยนเป็นซากุระ แต่บางคนก็อ้างอิงตำนานบอกว่า ตอนที่เกาะแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้นมา มีซากุระลอยเต็มบนน้ำทะเลรอบเกาะ ในขณะที่บางคนก็เชื่อว่า เค้าตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่บุคคลสำคัญ คือท่านซากุระจิมะ ทาดาโนบุ ตะหากล่ะ … แล้วอันไหนคือที่มาที่ถูกต้องล่ะ … จะรู้มั้ยเนี่ย
จะมีที่มาอย่างไรก็ช่างมันเถอะค่ะ เกาะซากุระจิมะนี้ตั้งอยู่กลางอ่าวคาโกชิมะ และเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่มากที่สุดในญี่ปุ่นเลยนะ จะบอกให้ (เอามาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดคาโกชิมะซะเลย) ปัจจุบันมีความยาวรอบเกาะประมาณ 50km ระยะทางเหนือใต้ 10km และตะวันออกถึงตะวันตก 12km ดูเป็นเกาะกลมๆ ที่ใหญ่โตเอาการอยู่เหมือนกัน กลางเกาะมียอดเขาสูงอยู่ 3 ลูก โดยเหนือสุด คือยอดคิตาดาเคะ (1117 เมตร) ตรงกลาง นาคาดาเคะ (1060 เมตร) และทางใต้ คือ มินามิดาเคะ (1040 เมตร) ซึ่งลูกสุดท้ายทางใต้เป็นยอดที่ยังคงคุกรุ่นรุนแรงที่สุดในปัจจุบัน และห้ามเข้าใกล้เด็ดขาดภายในรัศมี 2km วัดจากปากปล่องกันเลย
ยอดภูเขาไฟบนเกาะ Sakurajima พ่นควันฉุยๆ เห็นแต่ไกล
ทั้งหมดที่กล่าวมาคือปัจจุบัน แต่ต่อไปก็ไม่รู้สินะ เพราะเกาะซากุระจิมะน่ะ เค้ามีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการร่วมกับประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2 หมื่นปีของภูเขาไฟน่ะสิ ปากปล่องคิตาดาเคะทางเหนือน่ะ สงบมานานเป็นหมื่นปีแล้ว แต่ปากปล่องรุ่นน้องทางใต้ยังขยันทำหน้าที่อยู่ค่ะ ในบันทึกตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 8 ระบุว่าเกิดเหตุการระเบิดครั้งใหญ่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ซึ่งครั้งที่ 3 คือในปี ค.ศ. 1914 เป็นครั้งที่ใหญ่และรุนแรงที่สุดของซากุระจิมะ (และของประเทศญี่ปุ่น) ลาวาที่ปะทุออกมาฝังกลบเกาะเล็กข้างๆ ไปเรียบร้อย แถมยังช่วยสร้างถนนให้เกาะซากุระจิมะเชื่อมติดกับผืนแผ่นดินใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ให้เสร็จสรรพ (อ้าว … เลยไม่เป็นเกาะเต็มตัวแล้วสิ) นอกจากนี้ยังว่ากันว่าเถ้าภูเขาไฟกว่า 3 ล้านตัน ที่พ่นออกมาต่อเนื่องเป็นเวลา 1 เดือนในครั้งนั้น ล่องลอยไกลไปถึงประเทศรัสเซียเลยทีเดียว
วิวทะเล มองจากท่าเรือบนเกาะ Sakurajima
การเดินทางไปยังเกาะซากุระจิมะต้องอาศัยเรือเฟอรี่ ที่ให้บริการรับส่งอยู่ที่ท่าเรือใกล้ๆ กับสถานี JR Kagoshima (แม้จะได้ทั้งจังหวัดมาเป็นชื่อสถานี แต่ก็เล็กมากเหมือนสถานีท้องถิ่นเลย) พื้นที่แถวนี้จะพบเห็นขี้เถ้าสีเทาเกลื่อนเต็มท้องถนน และหนาตาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้ท่าเรือ ถือเป็นสารต้อนรับจากซากุระจิมะ ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเกาะเลยด้วยซ้ำ คนแถวนี้แม้ในวันที่แดดออกจึงยังพกร่มกันหลายคน เผื่อไว้ว่าเวลาภูเขาไฟบนเกาะซากุระจิมะปะทุ และปล่อยขี้เถ้าคลุ้งมาทักทาย จะได้พร้อมป้องกันได้พอดี ทิปิจังดันใส่เสื้อขาวมาป้วนเปี้ยนแถวนี้ ขากลับนี่ต้องสะบัดฝุ่นยกใหญ่เลยค่ะ
เรือเฟอรี่ที่ให้บริการข้ามฟากจากท่าเรือคาโกชิมะ ไปส่งยังท่าเรือบนเกาะซากุระจิมะนี้เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงนะคะ ในหนึ่งวันให้บริการไปกลับบ่อยถึง 83 เที่ยว และใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น จากนั้นจะเที่ยวเกาะก็มีหลาย option ค่ะ เช่นเช่ารถขับ (นำรถขึ้นเฟอรี่ได้) หรือใช้บริการรถบัสที่วิ่งวนเป็นลูฟรอบเกาะผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ หรือเช่าจักรยานขี่เองก็ครื้นเครงดีเหมือนกัน แต่ถ้าไม่ได้มีเวลามากมายนัก เที่ยวแค่ใกล้ๆ แถวท่าเรือก็พอเดินไหวค่ะ ออกกำลังกายดีเลยล่ะ ที่ทิปิจังไปตะลอนมาก็มีเล็กๆ น้อยๆ ซัก 3 ที่ดังนี้ค่ะ
Magma Onsen ยินดีต้อนรับ
สปาเท้านากิซะ
จากท่าเรือก็เดินไกลอยู่เหมือนกันนะ แรกๆ นี่แทบไม่พบเห็นอะไรเพลินตาเลย จนผ่านรีสอร์ตแมกม่าอองเซน ซึ่งก็เปิดให้บริการอองเซนต้อนรับนักท่องเที่ยวขาจรด้วย (ค่าบริการ 300 เยน) แล้วถัดมานั่นแหละถึงเป็นสวนสปาเท้านากิซะ (เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติคิริชิมะยาคุ) ซึ่งที่นี่เค้าให้บริการสปาเท้าแบบฟรีๆ ด้วยน้ำแร่ธรรมชาติจากภูเขาไฟ บนทำเลทองชนิดที่เท้าก็อุ่นไป ตาก็ชมวิวภูเขาไฟและวิวทะเลไปพร้อมกันเพลินเลย แถมยังเป็นสปาเท้าที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่นด้วยนะ (ประมาณ 100 เมตร นั่งเรียงกันก็ได้เป็นร้อยคนล่ะ)
จากท่าเรือก็เดินไกลอยู่เหมือนกันนะ แรกๆ นี่แทบไม่พบเห็นอะไรเพลินตาเลย จนผ่านรีสอร์ตแมกม่าอองเซน ซึ่งก็เปิดให้บริการอองเซนต้อนรับนักท่องเที่ยวขาจรด้วย (ค่าบริการ 300 เยน) แล้วถัดมานั่นแหละถึงเป็นสวนสปาเท้านากิซะ (เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติคิริชิมะยาคุ) ซึ่งที่นี่เค้าให้บริการสปาเท้าแบบฟรีๆ ด้วยน้ำแร่ธรรมชาติจากภูเขาไฟ บนทำเลทองชนิดที่เท้าก็อุ่นไป ตาก็ชมวิวภูเขาไฟและวิวทะเลไปพร้อมกันเพลินเลย แถมยังเป็นสปาเท้าที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่นด้วยนะ (ประมาณ 100 เมตร นั่งเรียงกันก็ได้เป็นร้อยคนล่ะ)
อุทยานแห่งชาติ Kirishima-Yaku National Park
สปาเท้าที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่นที่ Nagisa foot bath park วิวเขาและทะเลเลิศมากค่ะ
ขอเตือนนิดนึง ใครอยากแช่เท้าอุ่นๆ ต้องเตรียมอุปกรณ์มาให้พร้อมสำหรับ outdoor นิดนึงนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อากาศหนาวๆ เช่นนี้ หลายคนคงมาในสภาพที่เสื้อผ้ารัดกุมใช่มั้ยล่ะ ถ้าพกผ้าขนหนูผืนเล็กติดตัวมาด้วยสักผืน จะช่วยได้เยอะตอนขึ้นจากสปามาแต่งตัวค่ะ ว่าแต่ … ท่อนล่างเท่านั้นนะคะที่อุ่นสบาย ส่วนท่อนบนยังต้องแน่นหนาและกอดอกรับลมทะเลเย็นๆ ต่อไปนะคะ … บรึ๋ย
Valcano museum
จากนั้นก็ลองเข้าไปแวะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (ฟรี) ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของภูเขาไฟและเกาะซากุระจิมะ รวมถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตแถบนี้ ที่ทิปิจังถูกใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็น VDO multivision ที่เล่าเรื่องตอนระเบิดครั้งใหญ่ และกลายเป็นที่มาของยอดปากปล่องทั้งสาม โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1914 ที่นอกจากจะเปลี่ยนรูปร่างของเกาะแล้ว ขี้เถ้าจำนวนมากยังพอกพูนจนฝังกลบเสาโทริอิความสูง 3 เมตรของศาลเจ้าคุโรคามิ หายไปเกือบมิดเลย
จากนั้นก็ลองเข้าไปแวะที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว (ฟรี) ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ เกี่ยวกับวิวัฒนาการของภูเขาไฟและเกาะซากุระจิมะ รวมถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตแถบนี้ ที่ทิปิจังถูกใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็น VDO multivision ที่เล่าเรื่องตอนระเบิดครั้งใหญ่ และกลายเป็นที่มาของยอดปากปล่องทั้งสาม โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1914 ที่นอกจากจะเปลี่ยนรูปร่างของเกาะแล้ว ขี้เถ้าจำนวนมากยังพอกพูนจนฝังกลบเสาโทริอิความสูง 3 เมตรของศาลเจ้าคุโรคามิ หายไปเกือบมิดเลย
นิทรรศการที่จัดแสดงภายใน Valcano Museum
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เล่าว่า ปากปล่องรุ่นพี่ในอดีตเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละครั้งก็พักยาวหลายปี แต่พอมาเป็นปากปล่องรุ่นน้องนี่ไฟแรงเหลือเกิน ระเบิดถี่ยิบ ครั้งละน้อยๆ ไม่รุนแรง ไม่มีลาวา แต่ก็ปล่อยทั้งควันและขี้เถ้าปุ๋งๆ ออกมาเรื่อย วันละหลายครั้ง สร้างความเดือดร้อนและน่ารำคาญให้แก่ชาวเมืองใช่น้อย (เช่น พืชผลเสียหาย การจราจรถูกกีดขวาง บางทีถ้ามาพร้อมฝน ก็ทำเสาไฟฟ้าช็อตได้) แต่คนญี่ปุ่นเค้าชินกับปรากฏการณ์ธรรมชาติแบบนี้อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่บอกว่าเรื่องของภัยพิบัติไปที่ไหนๆ ก็มี แต่ที่นี่คือบ้านเกิด ต้องหาวิธีอยู่ร่วมและรับมือกับมันให้ได้ หนุ่มสาวอาจจะอพยพจากไปแล้วบ้าง แต่ก็ยังมีประชากรอีกกว่าครึ่งล้านอาศัยอยู่บนเกาะนี้ เหตุการณ์ในอดีตก็สอนอะไรไว้เยอะ จึงสามารถเลือกเฟ้นหาวิธีป้องกันได้อย่างถูกวิธี ไม่ได้อันตรายขนาดนั้น
ในด้านเทคโนโลยี ก็มีโครงการสร้างคลองและเขื่อนแบบพิเศษ ที่เรียกว่าเขื่อนซาโบ เพื่อรับมือและยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งยังมีการจัดเก็บข้อมูลแบบ real time ด้วยทั้งกล้อง ทั้งเซนเซอร์ ทั้งอัลตราโซนิค และอีกเครื่องมือทันสมัยสารพัด ซึ่งเมื่อได้ฟังดังนี้แล้ว ทิปิจังก็เชื่อว่า สำหรับผู้ที่ยืนหยัดและต่อสู้กับภัยพิบัติเหล่านี้มาอย่างโชกโชน เขาจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์เพื่อเกื้อกูลผู้คนและโลก ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปแน่นอนค่ะ
ไม่ใช่แค่อยู่ด้วยกันได้อย่างสันติเท่านั้น แต่ชาวบ้านบนเกาะยังสามารถค้นพบประโยชน์จากสภาพแวดล้อมแถบนี้อีกด้วย ก็ดินภูเขาไฟน่ะสิคะ ถือเป็นแหล่งรวมแร่ธาตุชั้นดีเลย แม้ในช่วงแรกอาจก่อให้พืชผลเสียหายบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปดินภูเขาไฟนี้จะมีบทบาทสำคัญขึ้น อย่างน้อยตอนนี้ก็ทำให้เกาะซากุระจิมะมีชื่อเสียงเรื่อง ส้มมิคังที่เล็กที่สุดในโลก (ประมาณ 3 ซ.ม.) และหัวไชเท้าซากุระจิมะที่ใหญ่ที่สุดในโลก (เฉลี่ย 6-7 กิโลก็ว่าใหญ่แล้ว แต่ที่ใหญ่สุดจริงๆ ล่อไป 4-50 กิโลเท่าลูกบาสเลยก็มี และยังน่าจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพราะประกวดแข่งกันทุกปี) ผลผลิตทั้ง 2 อย่างนี้ แม้ได้บันทึกสถิติกินเนสไปคนละขั้วเลย แต่ที่เหมือนร่วมกันคือรสชาติอันหวานฉ่ำเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากดินและเถ้าภูเขาไฟคุณภาพดีนั่นเอง (สังเกตเสาไฟฟ้าบนถนนสาย 224 โคมไฟเป็นรูปหัวไชเท้านะคะ)
ตอกย้ำชื่อเสียงของหัวไชเท้า Sakurajima daikon
ตามรอยลาวา
ถัดจากนั้นไปเดินไฮกิ้งเลียบทะเลกันค่ะ บนเส้นทางตามรอยลาวา Hakamagoshi Karasujima มีทั้งคอร์สสั้นและคอร์สยาวให้เลือกเดินสำรวจ แน่นอนสิคะ สำหรับทิปิจังก็ต้องคอร์สที่สั้นที่สุดอยู่แล้ว เอาแค่พอให้ได้บรรยากาศค่ะ จะเหนื่อยเยอะแยะไปทำมั้ย (เสียงสูงเชียว) ระหว่างทางก็พบรูปปั้นและหินสลักโคลงบทกวีสำคัญของ ฮายาชิ ฟุมิโคะ ผู้ประพันธ์วรรณกรรมขึ้นชื่อที่เกิด โต และใช้ชีวิตในวัยเด็กที่ซากุระชิมะแห่งนี้
บนเส้นทางตามรอยลาวาสีดำ เลียบทะเล ชิลมากๆ
คอร์สสั้นๆ สะดวก และได้บรรยากาศ
หินสลักโคลงบทกวีสำคัญ
ทิปิจังเหนื่อยแล้วล่ะค่ะ เมื่อกลับมาถึงท่าเรือเฟอรี่ก็เตรียมกลับขึ้นฝั่งเลย ไม่ใยดีจะเดินเล่นต่อแถวนี้แล้ว ทั้งๆ ที่ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น สวนไดโนเสาร์ (อยู่ห่างจากท่าเรือไปทางเหนืออีกประมาณ 15 นาที) เก็บแรงไว้ไปเที่ยวอบทรายร้อนต่อในบล็อกถัดไปดีกว่านะคะ
ตัวอย่างทริปคิวชู 7 วัน + side trip 2 วัน
1-day trip ฟุคุโอคะ
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ฉบับฟุคุโอกะ
เที่ยวศาลเจ้าดาไซฟุ
บนรถไฟสาย Aso Boy
สวนสันติภาพแห่ง Nagasaki
8 ขุมนรกร้อนๆ ที่เบบปุ
หิมะแรกแสนโรแมนติคที่ยุฟุอิน
ชิลๆ ที่ Sakurajima, Kagoshima
อองเซนทรายร้อนที่ Ibusuki, Kagoshima
หนุกจัง..จะตามอ่านตอนต่อไปนะคะ
ตอบลบขอบคุณค่ะ จะทยอยเขียนเรื่อยๆ ค่ะ
ลบดีครับ อธิบายได้ดี อยากไปเที่ยวเลย
ตอบลบคิวชูเที่ยวสนุกค่ะพี่ก๊อบ น่าไปนะคะ
ลบ