นางาซาคิเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งบนซีกตะวันตกของเกาะคิวชู และเนื่องจากเป็นเมืองท่าที่อยู่ใกล้ชิดติดกับแผ่นดินเอเซียมากที่สุด จึงมีบทบาทค่อนข้างมากหลายศตวรรษ ในด้านค้าขายกับต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ นางาซาคิกลับเป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองที่ยังคงได้สิทธิ์ ในการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่สอง ที่ถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณู Fat man เป็นครั้งแรกของโลก เพียงไม่กี่วันหลังจากฮิโรชิมะถูกทำลายย่อยยับโดย Little boy ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
การตะลอนเดินทางในนางาซาคินั้นค่อนข้างง่าย เพราะมีเครื่อข่ายรถรางหลายสายครอบคลุมสถานที่สำคัญต่างๆ ในเมือง แถมยังให้บริการตั้งแต่เช้าจรดค่ำ (คือประมาณ 6 โมงเช้าถึง 5 ทุ่มเห็นจะได้) สถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ อยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมืองมากนัก ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ด้วยกันแถวฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของสถานีรถไฟ JR Nagasaki มีเพียงสวนสันติภาพหรือ Peace Park ที่อยู่ค่อนไปทางเหนือเยอะหน่อย ให้สบายก็เลือกใช้ตั๋ว 1-day pass แบบเหมาๆ ขึ้นลงเครือข่ายรถรางแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งไปเลยค่ะ ขึ้นครบ 4 ครั้งก็คุ้มแล้วแถมไม่ต้องเป็นกังวลมากมายด้วย
Nagasaki Peace Park
ลานน้ำพุแห่งสันติภาพ
และไฮไลท์อันดับต้นๆ ก็คือสวนสันติภาพนางาซาคิที่อยู่ค่อนไปทางเหนือนี่แหละ ทิปิจังจะพาไปเยือนเป็นที่แรกเลยนะคะ สวนสันติภาพแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นบนเนินเขาทางตอนเหนือของเมือง เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ซึ่งเป็นวันที่ระเบิดปรมาณูลูกที่ 2ของโลก ถูกปล่อยลงสู่นครนางาซาคิ โดยมีศูนย์กลางการระเบิดอยู่ที่เมืองอุราคามิ และทำลายพื้นที่เมืองเกือบทั้งหมด รวมถึงคร่าชีวิตผู้คนอีกนับหมื่นแสน
เมื่อมาถึงสวนสันติภาพ เราก็ได้รับการต้อนรับอย่างสดชื่นจากลานน้ำพุที่ด้านหน้า ซึ่งรายล้อมด้วยทิวทัศน์สวยงามของภูเขาสูงทางด้านหนึ่ง และมีรูปปั้นขนาดใหญ่อันเป็นสัญลักษณ์ของสวนสันติภาพนางาซาคินี้อีกด้านหนึ่ง รวมถึงรูปปั้นที่ส่งตรงจากประเทศต่างๆ และอนุสรณ์อื่นๆ อีกมายมาย ตั้งเรียงรายอยู่ภายในพื้นที่สวนสันติภาพแห่งนี้ แต่ละชิ้นมีความหมายลึกซึ้งกินใจประจำตัวด้วยกันทั้งสิ้น เช่น ลานน้ำพุแห่งสันติภาพ ก็สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้คนที่ทุกข์ทรมานและโหยหาแต่น้ำ ในขณะที่อากัปกริยาทุกส่วนบนรูปปั้นสันติภาพชิ้นหลัก ก็ล้วนแล้วแต่มีความหมายเฉพาะตัว เช่น มือขวาที่ชี้ขึ้นฟ้าสื่อถึงความโหดร้ายของระเบิดนิวเคลียร์ ในขณะที่มือซ้ายซึ่งวาดตรงไปด้านข้างสื่อถึงสันติภาพ เป็นต้น
รูปปั้นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพที่ Nagasaki Peace Park
บรรดารูปปั้นและอนุสรณ์แห่งสันติภาพต่างๆ ที่ถูกส่งมาจากประเทศต่างๆ และรวบรวมไว้ที่นี่
ถัดมาจะพาไปเยือนโบสถ์อุราคามิซึ่งอยู่ไม่ไกล โดยในอดีตโบสถ์อุราคามินี้เคยเป็นโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นตะวันออก แต่ก็ถูกทำลายพินาศไปพร้อมกับเมือง จนมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1959 หรือ 14 ปีหลังเหตุการณ์ระเบิด จากนั้นเดินย้อนลงมาทางใต้ซักครู่ใหญ่ ก็จะถึงศูนย์กลางการระเบิด หรือ hypocenter ซึ่งเป็นลานกว้างรายล้อมด้วยอนุสรณ์สถานต่างๆ มีเฉพาะตรงกลางที่เป็นเสาหินสีดำโดดเด่นขึ้นมา แสดงตำแหน่งศูนย์กลางการระเบิด ซึ่งอยู่เหนือจากเสาต้นนี้ขึ้นไปเพียง 500 เมตรนั่นเอง หากลองไปสังเกตใกล้ๆ จะพบว่าบนแท่งเสาสีดำนี้ จะเต็มไปด้วยชื่อสลักของเหยื่อเคราะห์ร้ายมากมาย
โบสถ์ Urakami ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ถึงปัจจุบัน
เสาหินสีดำแสดงจุดศูนย์กลางการระเบิด หรือ Hypocenter
เศษซากที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิดของโบสถ์ Urakami เดิม
อนุสรณ์สถานต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบๆ Hypocenter
ไม่ไกลทางเนินด้านบน คือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ปรมาณู และพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสันติภาพ ซึ่งด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัด ทิปิจังจะพาไปชมเพียงพิพิธภัณฑ์ปรมาณูเท่านั้นนะคะ สนนราคาค่าเข้าก็เพียง 200 เยนเท่านั้น เท่ากับที่ฮิโรชิมะเลย ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 โซนด้วยกัน ในโซนแรกเมื่อก้าวเข้ามาจะพบกับสภาพบ้านเมือง ที่ก็ดูเป็นปกติดีก่อนเกิดเหตุการณ์ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันเมื่อเวลา 11:02 น. โซนที่ 2 ถัดมาเป็นโซนเกี่ยวกับเหตุการณ์และที่มาที่ไปสู่โศกนาฏกรรม ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งต่อสิ่งมีชีวิต ข้าวของ และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เกี่ยวข้อง
นิทรรศการที่จัดแสดงในโซน 1
หน้าตาของ Fat Man จอมพลัง
ในโซนที่ 2 นี้ ทิปิจังได้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์มากมาย ทำให้รู้ว่า Little boy ที่ถล่มฮิโรชิมะไปเมื่อ 3 วันก่อน แท้จริงเป็นวิทยาการที่แตกต่างจาก Fat man ลูกอ้วนๆ ที่ใช้กับนางาซาคิอย่างสิ้นเชิง เพราะเด็กน้อย Little boy ผลิตขึ้นจากแร่ยูเรเนียม ในขณะที่เจ้าตัวอ้วน Fat man ถือกำเนิดจากพลูโตเนียมที่มีอำนาจทำลายล้างสูงกว่า โดยมีปริมาณพลังงานที่ปลดปล่อยเทียบเท่ากับระเบิด TNT 21,000 ตันเห็นจะได้ (ลองคิดถึงรถบรรทุกคันใหญ่ที่ขนระเบิดมาเต็มคัน และตูมขึ้นพร้อมกันทั้ง 4 คัน) เกิดเป็นแรงระเบิดที่มีความเร็วรอบจุดศูนย์กลางถึง 170 km/hr (ขนาดไต้ฝุ่นยังแค่ 80 km/hr) ที่มาพร้อมกับอุณหภูมิสูงปรี๊ดเป็นพันๆ องศา แถมด้วยรังสีปรมาณู (ทั้งแกมม่าและนิวตรอน) ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับเซล ทั้งในระยะสั้นและต่อเนื่องอีกมากมาย ในความเห็นส่วนตัวของทิปิจัง ถูกใจมากกับการอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างลงลึก แต่ในส่วนของผลกระทบต่างๆ คิดว่าดูเยอะจริงจังไปหน่อย ทำให้ออกอาการหดหู่บ้างเล็กน้อย (เมื่อเทียบกับที่ฮิโรชิมะ)
สถานการณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน
ถัดมาโซนที่ 3 เป็นเรื่องราวของสถานการณ์นิวเคลียร์ในปัจจุบัน รวมถึงความพยายามและร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั่วโลกที่จะปลดปล่อยโลกให้เป็นอิสระจากนิวเคลียร์เพื่อการทำลายล้าง และสุดท้ายในโซนที่ 4 ซึ่งอยู่บนชั้นสอง เป็นห้องวิดีโอที่รวบรวมภาพยนต์สารคดีที่เกี่ยวข้องและหาชมที่อื่นไม่ได้ง่ายๆ ไว้ และมาปิดท้ายตรงทางออก ด้วยผลงานศิลปะหลากสีสันของนักเรียน ที่สร้างสรรค์จากกระดาษพับรูปนกกระเรียน นำมาสื่อถึงสันติภาพได้อย่างน่าสนใจ
ผลงานศิลปะที่สือถึงสันติภาพโดยฝีมือเยาวชน
ของดีนางาซาคิไม่ได้มีแค่นี้ หลังจากใช้เวลาที่พิพิธภัณฑ์ไปจนเต็มเหนี่ยวแล้ว ก็เคลื่อนย้ายตัวกันต่อด้วยรถราง เพื่อไปเยี่ยมเยือนสถานที่น่าสนใจทางอีกฟากหนึ่งของสถานีรถไฟ JR Nagasaki เช่น วัดโซฟุคุจิ ซึ่งเป็นวัดเซนที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1629 (เก่าแก่มาก) ตามแบบสถาปัตยกรรมจีนเป๊ะๆ และมีความเป็นจีนมากที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น
วัด Sofukuji สไตล์จีน
ถัดมาก็ไปเยือนสะพานแว่นตา หรือสะพานหินเก่าแก่ข้ามแม่น้ำนาคาจิมะ ที่วิ่งผ่านกลางเมืองนางาซาคิ สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1634 โดยนักบวชนิกายเซน ถือเป็นสะพานหินโค้งแห่งแรกของญี่ปุ่น และด้วยดีกรีความสำคัญระดับนี้ แม้เป็นเพียงสะพานเล็กกระจิ๋วเดียว แต่บรรดาทัวร์ก็ยังอุตส่าห์ดั้นด้นมาดูกัน ในขณะที่ทิปิจังและเดอะแก๊งส์นี่ถ่อปีนลงไปเลยค่ะ เพื่อจะได้เห็นแว่นตาเต็มวงที่สะท้อนจากผืนน้ำให้ชัดๆ จะๆ กันไปเลย (ก็อุตส่าห์มาถึงแล้วทั้งทีนะ)
สะพานแว่นตา (มีแค่นี้แหละค่ะ)
จากนั้นก็ไปต่อที่ไชน่าทาวน์นางาซาคิ หรืออีกชื่อหนึ่งคือชินชิไชน่าทาวน์ ซึ่งเป็นไชน่าทาวน์ที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น เพราะสร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 โดยในยุคที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ ก็มีเพียงนางาซาคินี้ละ ที่ยังคงติดต่อค้าขายกับจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ แต่จะว่าไปทิปิจังคิดว่า ไชน่าทาวน์แห่งนี้ดูไม่คึกคักเท่าไรนัก โดยความเห็นส่วนตัวแล้วยังมีความน่ารักน่าเอ็นดู ไม่เท่ากับไชน่าทาวน์รุ่นน้องที่โกเบ ซึ่งจุ๋มจิ๋มกระทัดรัดกว่า และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจอแจไปเรียบร้อยแล้ว ไหนๆ ก็มาถึงแล้ว อย่าลืมทดสอบเมนู จัมปง กับซาราอุดง ของขึ้นชื่อนางาซาคินะคะ
ทางเข้าสีสันสดใส สู่ Nagasaki China Town
เมนู จัมปง ขึ้นชื่อ
ร้านค้า ร้านอาหาร เน้นสีสันแบบจีน
ป.ล. ส่วนสวนสนุก Huis Ten Bosch สไตล์ฮอลแลนด์ สถานที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของนางาซาคิ นี่ต้องว่ากันอีกทริปยาวๆ เลยค่ะ และเน้นว่าควรเป็นฤดูใบไม้ผลิด้วยนะ เพื่อจะได้เต็มอิ่มกับทิวลิปสวยๆ ละลานตา
สวนสันติภาพแห่ง Nagasaki
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น